ไก่ชนที่ผ่านการต่อสู้แล้วต้องมีการรักษาบาดแผล และพักฟื้นร่างกายพอสมควร ส่วนมากจะทำกับไก่ชนที่ตีชนะกลับมาส่วนไก่ชนที่ถูกตีจนสภาพร่างกายย่ำแย่จนยากที่จะประคบประหงมให้กลับดีดังเดิม นักเลี้ยงไก่ชนไม่นิยมเลี้ยงไว้อีกต่อไป วิธีการพักฟื้นไก่ชนที่นิยมทำกันโดยทั่วไปมีดังนี้
การรักษาแผล
หากไก่ชนถูกตีเป้นแผลบริเวณหน้าและหัว ให้ใช้เข็มเย็บแผลให้หนังปากแผลเข้าหากัน โดยทำความสะอาดแผลแล้วเช็ดให้แห้ง ถ้ามีเลือดตกในให้ดูดออกก่อน ดึงหนังที่ปากแผลให้ร่นเข้าหากันแล้วเย็บ ระวังอย่าให้เข็มถูกกล้ามเนื้อไก่ แต่ถ้าเป็นแผลที่หงอนไม่จำเป็นต้องเย็บ เพียงแต่ดูดเลือดเสียออกก็พอ
เมื่อเย็บแผลเสร็จแล้วต้องซับเลือดให้แห้ง ทาด้วยยาเพนิซิลิน หรือใบพลู หรือขมิ้นผสมปูนก็ได้ ในระยะรักษาแผลอย่าให้ไก่กินอาหารประเภทเนื้อสดเป็นอันขาด และระวังอย่าให้บริเวณแผลถูกน้ำเย็น เพราะจะทำให้แผลเป็นขุยเรื้อรัง ที่เรียกว่า “กลากไก่” แต่ถ้าไก่เป็นขี้กลากให้ใช้น้ำมันละหุ่ง หรือน้ำมันมะพร้าวผสมกับขี้เถ้า เหม่าควันไฟ ทาประมาณ 4-5 ครั้ง กลากไก่ก็จะหายไป
ถ้าไก่ชนถูกแทงตาบอด เมื่อชนเสร็จแล้วต้องรีบเอายางข่อยหยอดตาโดยเร็ว ถ้าปล่อยไว้จนเลือดและน้ำตาแห้ง ถึงจะใช้ยางข่อยก็ไม่เป็นผล ตาไก่จะฝ้าฟาง หรือบอดตลอดไปก็ได้
หากไก่ชนตีกันเกิดปากแตกหรือร้าว โดยเฉพาะจงอยปากบน ให้ใช้ด้ายเย็บผ้าเส้นเล็กๆ ผูกเข้าที่ปากเป็นเงื่อนตะกุดเบ็ดหลายตลบ เอาปลายด้ายผูกติดกันที่หงอนด้านหลัง เพื่อป้องกันการหลุด จากนั้นประมาณ 1-2 อาทิตย์ จงอยปากจะเกิดขึ้นใหม่รอจนจงอยปากแข็งดีแล้วจึงจะฝึกซ้อมได้
ในเวลาเช้าตรู่ต้องจับไก่มาประคบด้วยน้ำอุ่นที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอยบอบช้ำจะต้องประคบซ้ำหลายๆ ครั้ง นอกจากนี้ควรประคบบริเวณโคนขาและอกไก่พร้อมกับให้น้ำไก่บริเวณโคนหางและผิวหนังให้ทั่วถึง พอตกเย็นควรอาบน้ำเย็นให้ไก่ เพราะการให้น้ำอุ่นในตอนเช้าไก่จะตึงตามผิวและกล้ามเนื้อ การให้น้ำเย็นจะช่วยให้กล้ามเนื้อและความตึงของผิวหน้าผ่อนคลายช่วยให้ไก่หลับสบาย
หลังจากประคบด้วยน้ำอุ่นทุกครั้ง จะต้องผสมตัวยาทาทับไปบนใบหน้าเสอม โดยใช้ส่วนผสมของตัวยา คือ ขี้ผึ้งบริบูรณ์บาล์ม 1 ส่วน ขมิ้นเหลือง 10 ส่วน ปูนแดงกินกับหมาก 15 ส่วน และน้ำอุ่น 15 ส่วน ทำการคลุกเคล้าตัวยาให้เข้ากันแล้วทาลงบนใบหน้า ตามอก ต้นขา หัว ปีก และทุกส่วนที่บอบช้ำ ขี้ผึ้งบริบูรณ์บาล์มจะช่วยรักษารอยบอบช้ำให้คืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วขมิ้นกับปูนช่วยทำให้ใบหน้าแห้งตึงป้องกันเชื้อราที่จะขึ้นตามหน้าและทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น ส่วนน้ำอุ่นเป็นตัวกระสายยา ควรประคบตัวยานี้ให้ไก่ในตอนเช้า หลังอาบน้ำอุ่นเสร็จแล้ว
การออกกำลังกาย
ในระหว่างการพักผื้นควรให้ไก่ชนได้ออกกำลังกายบ้างเล็กน้อย โดยหลังจากให้น้ำในตอนเช้าควรปล่อยให้ไก่เดินเล่นอยู่ในสนามหญ้าและปล่อยให้จิกตัวแมลงเล็กๆ ในสนาม ประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงนำกลับ ขณะปล่อยให้ไก่เดินเล่นต้องคอยสังเกตอาการของไก่พร้อมไปด้วย ถ้าสังเกตเห็นไก่ยืนซึมสลัดหัวบ่อยๆ คอหด ตาปิด และยืนตัวงอ แสดงว่าไก่กำลังจะเป็นหวัด ต้องรีบหายาให้กิน นอกจากนี้ต้องคอยระวังอย่าให้ไก่ชนตัวอื่นมาตีไก่ในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ไก่ชนเป็นประสาท ขี้กลัว เสียเส้น และไม่กล้าสู้ไก่อีกต่อไป หรือที่เรียกว่า “ออกไก่”
การพักฟื้นด้านจิตใจ
เมื่อไก่มีสุขภาพและบาดแผลดีขึ้นแล้ว ควรได้จัดหาไก่ตัวเมียรุ่น ๆ มาห้อมล้อมสุ่มไว้ เพื่อให้เกิดความหึกเหิมขึ้นมาทีละน้อย ทำอยู่เช่นนี้ประมาณ 1 เดือน ไก่ก็จะมีความคึกคะนองและบาดแผลก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ ต่อจากนั้นควรนำสุ่มไก่ขนาดใหญ่อีกอันหนึ่งมาครอบช้อนไว้กับสุ่มไก่ตัวที่กำลังพักฟื้น แล้วหาไก่ชนตัวอื่นมาเลียบเคียงสุ่มด้านนอก เพื่อให้ไก่มีความคึกคะนองและอยากต่อสู้มากขึ้นนั่งเอง แต่การทำเช่นนี้ต้องแน่ใจว่าหายเป็นปกติดีแล้วจริงๆ เพราะอาจทำให้เกิดแผลซ้ำเติมได้