การเลี้ยงไก่พื้นเมืองถือเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ทำให้แต่ละท้องถิ่นก็มีไก่พื้นเมืองที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ซึ่งนอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพแวะล้อมแล้ว ความเก่งกาจและรูปแบบของเชิงชนนั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละถิ่นอีกด้วย ซึ่งพอจำแนกแหล่งไก่ชนที่เป็นที่รู้จักได้หลายแหล่งด้วยกัน แต่วันนี้เราจะพามารู้จักกับไก่ชนที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมคือ “ไก่ชนอยุธยา”
ไก่ชนอยุธยา ถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงไก่ชนที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะแถว ๆ อำเภอบางไทย และอำเภอท่าเรือ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็มีชาวบ้านเลี้ยงกระจัดกระจายครอบคลุมไปทั่วจังหวัด ซึ่งนักเล่นไก่ระดับเซียนส่วนใหญ่จะอยู่แถบอำเภอบางปะหัน และมหาราช ดังนั้นไก่ชนจากสองอำเภอนี้จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์มากกว่าที่อื่น เพื่อให้เป็นไก่เก่งและเป็นการเลี้ยงออกชนโดยเฉพาะ
ไก่อยุธยาที่เป็นเหล่าดั้งเดิม ปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันไปมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ไก่ชนรุ่นใหม่ที่เลี้ยงกันอยู่ทั่วไปจะมีระดับความเก่งปานกลางขึ้นไป เพราะสายพันธุ์พื้นเพดั้งเดิมของไก่อยุธยาไม่ใช่ไก่เชิงเทียบเท่าระดับไก่ตราด หรือมีเพลงตีปราดเปรียวว่องไวใส่แบบไม่นับเหมือนไก่ทางภายเหนือ หรือไก่พม่า แต่ไก่อยุธยามักเป็นไก่ตั้ง ถนัดโจ้ตี เป็นไก่ตีที่มีลำหนักเป็นธรรมชาติ ถ้าตีเข้าเป้าจัง ๆ ไม่กี่ทีมีโอกาสได้เสียทันที
ทั้งยังเป็นไก่ที่มีความทรหด อึด เหนียว และจิตใจดี มีใจสู้ ยอมแพ้ไม่เป็น มีโครงสร้างรูปร่างแข็งแกร่ง แข็งแรง เนื่องจากเป็นไก่รอยใหญ่ปานกลาง ขนาด 3-3.3 กิโลกรัม แต่ไม่ใหญ่ถึง 3.5 กิโลกรัม ซึ่งนักเล่นไก่ชนในพื้นที่นิยมเล่นไก่ขนาดนี้ ถ้าเป็นไก่รอยเล็กหรือไก่รอยใหญ่เกิน 3.5 กิโลกรัม จะหาเปรียบคู่ได้ยาก
ในอดีตไก่อยุธยาเป็นที่ต้องการของนักเล่นไก่ชนค่อนข้างสูง เพราะมีจุดเด่นตรงที่ร่างกายแข็งแกร่ง จิตใจใช้ได้ สู้ไม่ถอยทุกกรณี มีลำหักลำโค่นเป็นธรรมชาติและที่เป็นจุดเด่นสำคัญอีกอย่างก็คือ ผู้เพาะเลี้ยงไก่ชนในพื้นที่อยุธยาแข่งขันกันเรื่องทำไก่ให้เก่ง ไก่อยุธยาจึงได้รับการพัฒนาฝีมือเพลงตีขึ้นเรื่อยๆ แต่การมุ่งเน้น พัฒนาฝีมือเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นการผสมพันธุ์ข้ามเหล่า ก็ทำให้ไก่เหล่าเดิมของอยุธยาจริงๆ ถูกกลืนหายไปเรื่อย ๆ ซึ่งในที่สุดก็อาจเหลือแต่เพียงชื่อว่าไก่อยุธยาเท่านั้น