อาหารหลักที่ให้ไก่กินคือ “ข้าวเปลือก” ซึ่งการนำข้าวเปลือกมาให้ไก่ชนกินนั้นจำเป็นต้องมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายเมื่อให้ข้าวเปลือกไก่กิน จึงควรนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำไว้ประมาณ 15 นาที ขณะเอาข้าวแช่น้ำข้าวเปลือกเสียๆ เช่นพวกข้าวลียข้าวฝ่อจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ ให้เก็บทิ้งไปให้หมด เหลือแต่ข้าวดี ๆ ไว้ เศษวัสดุที่เจอปนมากับข้าวเปลือกถ้ามีน้ำหนักเบาลอยขึ้นมาให้เก็บทิ้ง
การล้างข้าวเปลือกโดยการแช่น้ำระยะหนึ่งก่อนจะช่วยล้างสารพิษตกค้างที่ติดอยู่บนผิวข้าวเปลือก เช่นยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมีซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อไก่ชนให้หมดไป รวมทั้งเศษผงที่มีความละเอียดบนเปลือกผิวข้าวเปลือกก็จะหมดไปด้วย
หลังจากแช่ข้าวเปลือกในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที เพื่อให้คราบสกปรกละลาย ควรซาวน้ำทิ้ง 2-3 น้ำ จนข้าวเปลือกสะอาดดีแล้ว ก็สงขึ้นมาตากแดดให้แห้งสนิท อย่าให้ข้าวเปลือกมีความชื้น เพราะถ้าเก็บไว้นาน ๆ อาจเกิดเชื้อราขึ้นได้ หรือถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นให้ขัดผิวข้าวเปลือกด้วยตะไคร้ซ้ำอีกครั้ง โดยใช้ตะไคร้ทั้งต้นมาเตรียมไว้ ส่วนที่เป็นลำต้นก็ทุบให้แตก เมื่อสงข้าวเปลือกขึ้นจากน้ำ นำไปตากพอหมาดๆ ก็นำตะไคร้ทั้งต้นทั้งใบมานวด-ขัด-ขยำกับข้าวเปลือก การขัดข้าวเปลือกด้วยตะไคร้จะช่วยทำให้เปลือกผิวด้านนอกหมดความสากระคาย เปลือกข้าวบางลง ความแหลมด้านหัว-ท้าย จะถูกลบให้กลมมน ทำให้ไก่กินสะดวกขึ้น ผลพลอยได้ที่สำคัญคือตะไคร้เป็นพืชสมุนไพร มีประสิทธิภาพและสรรพคุณทางยา ช่วยขับปัสสวะ บำรุงธาตุ ทำให้ระบบหายใจคล่องตัว แก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และบำรุงอาหาร ข้าวเปลือกที่ล้างสะอาดเป็นอาหารที่มีประโยชน์ให้ไก่กินแล้ว ยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากตะไคร้ที่เคลือบเปลือกผิวข้าวเปลือกไปด้วย
นอกจากการล้างข้าวเปลือก ขัดข้าวเปลือกด้วยตะไคร้ ยังมีเคล็ดลับเพิ่มคุณประโยชน์ให้กับข้าวเปลือกอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือนำไข่เป็นมาทุบให้แตกบนกองข้าวเปลือง แล้วขยำไข่ดิบและเปลือกไข่กับข้าวเปลือกให้ทั่ว จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้งสนิท ไข่ที่เคลือบผิวข้าวเปลือกเป็นโปรตีนเสริมให้ไก่ ส่วนเปลือกไข่จะให้แคลเซียม เสริมกระดูกและเป็นวัสดุช่วยในการย่อยอาหาร
อุปกรณ์การให้น้ำและข้าวเปลือกสำหรับไก่ชนในปัจจุบันมีแบบสำเร็จรูปจำหน่าย ซึ่งใช้ง่ายสะดวกสามารถที่เกาะเกี่ยวกับข้างสุ่มแล้วให้น้ำหรืออาหารได้เลย แต่อย่างไรก็ตามหลายซุ้มนิยมให้ไก่ได้ก้มกินข้าวกับพื้น โดยมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เลี้ยงนั่นเอง