“ไก่เขียวพาลี” พระยาพิชัยดาบหักแห่งอุตรดิตถ์ หรือ ไก่เขียวหางดำ เป็นไก่ชนพื้นเมืองซึ่งถูกพัฒนามาจากไก่บ้านพันธุ์ “กะตังอู” หรือ “ไก่อู” โดยมีการสืบค้นไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย เจ้าเขียวหางดำนี้เป็นไก่พันธุ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องชั้นเชิงดี ลำหักลำโค่นดี มีลักษณะเด่นตรงลำตัวมีสีเขียว ขนพื้นทั้งตัวเป็นสีดำ ขนปีทั้งนอกและในมีสีดำสนิท ตลอดจนมีขนหางทั้งพุ่มคือ หางพัดกระรวยมีสีดำสนิท ไม่มีสีอื่นเจือปน แข้งสีเขียว ตาสีเขียว จึงถูกตั้งชื่อว่า “พาลี” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไก่ที่พระยาพิชัยดาบหักชื่อชอบเป็นอย่างมาก เพราะลงสนามคราวใด แห่งไหน จะตีชนคู่ต่อสู้ทุกตัวได้อย่างราบคาบ ซึ่ง “ไก่เขียวพาลี” นี้มีประวัติความเป็นมาย่อๆดังนี้
พระยาพิชัยดาบหักเมื่อครั้งก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่านั้นประมาณ 2-3 ปี ท่านได้รับราชการกับพระยาตากที่จังหวัดตาก มีตำแหน่งเป็น “หลวงพิชัยอาสา” ได้นำไก่เขียวจากจังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านเกิดของท่านซึ่งไก่มีสีเขียวเหมือน “ลิงพาลี” ตามนิยายรามเกียรติ์ จึงเรียกว่า “ไก่เขียวพาลี” นำไปชนกับไก่หลวงเมืองตาก ซึ่งมีพระยาตากร่วมลงดูการชนไก่ครั้งนี้ด้วย ปรากฏว่าในอันดับที่ 2 ไก่เขียวพาลีได้ตีไก่ของหลวงเมืองตากตาย ปรากฏว่าหลวงเมืองตากไม่ยอมแพ้ พระยาตากจึงให้นำไก่ตายขึ้นขาหยั่งให้ไก่เขียวพาลีจิกตีให้ตกจากขาหยั่งจึงนับว่าแพ้ กติกานี้ปัจจุบันยังมีการพูดถึงกันอยู่ในหมู่ชนไก่ ผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันนั้นไม่นิยมใช้เป็นกติกากันแล้ว
ถึงแม้จะจัดให้ “ไก่เขียวพาลี” เป็นไก่ประจำถิ่น แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านมักเลี้ยงกันไว้ทั่วไป และมักนำไปผสมกับไก่อื่น โดยเฉพาะชาวบ้านที่เน้นเรื่องกีฬาไก่ชน มักจะนำไก่เขียวพาลีไปผสมกับไก่ที่มีคุณสมบัติที่แข็งแกร่ง อดทน และตีเก่ง อย่าง ไก่พม่า ไก่ป่าก้อย จึงทำให้เกิดการกลายพันธ์ขึ้น และจะเหลือไก่พันธุ์เขียวพาลีแท้อยู่ไม่มากแล้ว
โดยหลายปีที่ผ่านมานั้นเกิดกระแสความต้องการอนุรักษ์ไก่เขียวพาลีจากหลายฝ่ายในจังหวัด เพราะทุกคนต่างมองตรงกันว่าไก่พันธุ์นี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่จังหวัดของตน ซึ่งตำบล “คอรุม” เป็น 1 ใน 11 ตำบลของอำเภอพิชัย จ. อุตรดิตถ์ ชาวบ้านในตำบลคอรุมแทบทุกครัวเรือนนิยมเลี้ยงไก่พันธุ์เขียวพาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำท้องถิ่น อย่างนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม คือ คุณผจญ พูลด้วง ที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อต้องการให้ชาวบ้านหันกลับมาสนใจเลี้ยงไก่เขียวพาลีกันมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับความร่วมมือของทางปศุสัตว์จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์เขียวพาลีให้กลับมามีลักษณะพันธุ์ดั้งเดิมอย่างเช่นในอดีต
นายก อบต. คอรุม เผยว่า ทางสำนักงานได้สร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชื่อ “ศูนย์ถ่ายทอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อบต. คอรุม” ขึ้นภายในบางส่วนของบริเวณสำนักงานที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม มีพื้นที่ทั้งหมด 17 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาดูงาน มีการจัดแบ่งไว้เป็นฐานการเรียนรู้ ในแต่ละฐานกำหนดเป็นเกษตรกรรมแต่ละด้าน เช่น การเลี้ยงหมูบ่อแก๊ส โรงสีข้าวชุมชน การเพาะพันธุ์ไก่หลายสายพันธุ์ แต่ที่ดูจะเน้นและให้ความสำคัญมากคือ “ไก่เขียวพาลี” ทั้งนี้ เป็นไก่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์คู่กับจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะเป็นไก่ชนที่นักรบอย่างพระยาพิชัยดาบหักชื่นชอบมาก อีกทั้งตำบลคอรุมในประวัติศาสตร์ถือเป็นสมรภูมิการสู้รบไทยกับพม่า ทั้งนี้ ชาวบ้านต้องการเลี้ยงไก่ประเภทไหน และต้องการเลี้ยงเพื่อจุดประสงค์ใด ก็นำตัวเมียมาจับผสมกับพ่อพันธุ์ เพื่อใช้ขยายพันธุ์ในระดับครัวเรือน ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดต่อไป “โดยมากจะแนะนำให้เลี้ยงไก่เขียวพาลี เพราะถือเป็นไก่คู่จังหวัดที่มีความสำคัญ อีกทั้งยังต้องการเผยแพร่ขยายจำนวนไก่พันธุ์นี้ให้มีจำนวนมาก เพื่อให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเช่นเดียวกับไก่พันธุ์อื่น” ประเภทพันธุ์ไก่ที่ศูนย์เลี้ยงไว้เพื่อผสมพันธุ์หลักๆ ได้แก่ ไก่เขียวพาลี ประดู่หางดำ เหลืองหางขาว นอกจากนั้น เป็นพันธุ์ทั่วไปที่เป็นไก่เนื้อและไก่ไข่
ทั้งนี้ เกณฑ์ของพันธุ์ดั้งเดิมไว้ก่อนคือ ขนาดน้ำหนักตัวต้องไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม และจะต้องมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ เช่น รูปร่างเพรียวยาว ไหล่ยก กระเบนหางรัด ก้านหางแข็ง ปั้นขาใหญ่กลม ที่เรียกเป็นแบบลำหวาย ใบหน้ากลม ที่หางพัดและหางกระสวยสีดำสนิท เป็นต้น