ไก่อูไทยจะได้สืบทอดพันธุ์อยู่ในเมืองไทยมานานหลายชั่วอายุคน แต่รูปทรงของไก่อูก็ยังไม่มีมาตรฐานชี้ลงไปได้ว่า ต้องมีรูปทรงอย่างนั้น อย่างนี้ น้ำหนักต้องเท่านั้นเท่านี้ เหมือนไก่พันธุ์เนื้อซีพี ทั้งนี้เพราะเรายังไม่มีสมาคมไก่อูพอที่จะนัดแนะ กำหนดหลักการผสมและวางมาตรฐานให้เป็นที่แน่นอนได้ฉะนั้น ไก่อูไทยเวลานี้จึงมีหลายทรงหลายแบบ แต่พอที่จะดูได้จากลักษณะที่สำคัญ ๆ ดังนี้
สี
ไก่อูสายพันธุ์แท้ดั้งเดิมของไทยมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมกันมาก เช่น เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ ซึ่งจะเห็นว่าการเรียกชื่อสายพันธุ์ไก่อูของไทย จะเรียกไปตามลักษณะสีของไก่ นอกจากนี้ยังมีไก่อูสีอื่น ๆ เช่น ไก่ลายข้าวตอก ไก่โยดอกหมาก ไก่ทองแดง ไก่เทา ไก่เหลืองประทัดเหล็ก ไก่แดงนกกรด ไก่เหลืองโนรี ไก่เขียวหางขาว ไก่พันธุ์ดังกล่าวนี้เป็นไก่สายพันธุ์แท้แต่โบราณ นอกนั้นเป็นไก่ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์เหลืองหางขาว และประดู่หางดำ
ขน
เนื่องจากไก่อูเป็นพันธุ์ไก่นักสู้ตัวฉกาจโดยสัญชาตญาณทุกอย่างในตัวของมันจะต้องอยู่ในลักษณะแกร่ง ไม่เทอะทะรุ่มร่าม เช่นไก่พันธุ์อื่น ๆ ไก่อูพันธุ์แท้จะมีลักษณะขนแข็ง ลักษณะนี้คล้ายกับว่าขนแห้ง ไม่มีลักษณะเป็นขนที่อ่อนนิ่ม ที่นักเลงไก่ชนเรียกกันว่า “ไก่ขนเปียก” นั่นเอง ไก่ที่มีลักษณะเป็นขนเปียกมากที่สุด ได้แก่ ไก่สีเขียวปีกแมลงภู่ ไก่อูบางพันธุ์ที่มีแข้งขนคล้ายกับไก่ตะเภา ลักษณะนี้ไม่ใช่ลักษณะของไก่อูพันธุ์แท้
รูปร่างลักษณะ
ไก่อูต้องมีลักษณะปากใหญ่ สั้น ลักษณะเป็นปากที่แข็งมีสีเหลืองหรือสีขาว แต่บางตัวก็มีสีดำลายเป็นทาง ๆ ปนอยู่บ้าง แต่ไม่ควรเกินกว่า 1/4 ของปาก ตาต้องกลม นูนเด่น ไม่ยาวรี ไก่ที่มีนัยน์ตาลึกแสดงถึงนิสัยไม่ดี เห็นแก่ตัว ชอบจิกตีไก่อื่น ก้านคอต้องใหญ่ แข็งแรง สังเกตได้จากเสียงที่ขัน ถ้าขันเสียงใหญ่ เสียห้าว เสียงทุ้ม นั้นแสดงว่าเป็นไก่ที่มีลำคอใหญ่ ไก่ที่มีลำคอใหญ่จะได้เปรียบในเชิงเข้าเกี้ยวตีเป็นพิเศษ เพราะสามารถกดคอคู่ต่อสู้ได้อย่างดีไหล่ต้องมองดูกว้าง ผึ่งผาย ไม่เป็นไก่ที่มีไหล่อห่อ ซึ่งแสดงว่าไม่องอาจขาดความสง่า ไก่ที่มีลักษณะเอาปีกขึ้นไปห่อไว้บนหลังเวลาเดินเหินเป็นลักษณะที่ไม่ดี ลำตัวต้องมีลักษณะลึก เวลายืนมีความองอาจ สง่าด้านหน้าใหญ่แล้วเรียวแหลมไปทางด้านหาง มองดูคล้ายกับรูปของหัวปลีกกล้วย ขามีช่วงยาวสมส่วน แข็งแรง ไม่ใหญ่จนและดูเทอทะแข้งกลมไม่บิดเบี้ยว หางพุ่งไม่เป็นลักษณะเป็นบ่วงแบบหางไก่แจ้ ไก่ที่เป็นหางเป็นบ่วงจะมีปัญหาในเวลาเข้าเกี้ยวกับคู่ต่อสู้ เพราะจะทำให้เหยียบหางของตนเอง จะเสียหลักในการทรงตัว แพนหางต้องแผ่กว้าง เพื่อช่วยให้การบินขึ้นตีได้ดี
ขนาดของไก่ชน
โดยทั่ว ๆ ไปเขาแบ่งไก่ชนออกเป็น 3 ขนาด ตามรูปร่างหรือน้ำหนักตัวไก่ ดังนี้
1. ไก่ขนาดใหญ่ ภาษาไก่ชน เรียก “ไก่รอยใหญ่” น้ำหนักตั้งแต่ 3 ก.ก. ขึ้นไป จนถึง 4 ก.ก. เป็นไก่ที่มีขนาดลำตัวใหญ่ ตัวโตได้มาตรฐาน ปัจจุบันนิยมน้ำหนัก 3.5-4 ก.ก. เรียกไก่ “ได้รอย” ได้ขนาด มีรูปทรง 3 แบบ คือ
- ทรงล่ำเตี้ย เป็นไก่ช่วงสั้น บางครั้งเรียก ทรงล่ำเตี่้ย เบี้ยหลังจั่น
- ทรงสูง ช่วงตัวยาว ขายาว ส่วนหัวเรียก ท้ายเรียว อกใหญ่ ส่วนกลางตัวใหญ่ มองดูคล้ายปลีกล้วย
- ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลำตัวคล้ายลังไม้
2. ไก่ขนาดกลาง เรียก “ไก่รอยเล็ก” น้ำหนักตัวตั้งแต่ 2.5 ก.ก. ถึง 3 ก.ก. มีทรงเดียว คือ “ทรงหงส์” คือมีลำตัวยาวรูปปลีกล้วย หัวและคอเชิดตรง สนับปีกแข้งหนาใหญ่และยาวจนปลายปีกไปจรดกันที่ใต้โคนหาง หางแข็งยาว โคนโค้งกระดกขึ้นเล็กน้อย แล้วปลายหางจึงโค้งลง ปั้นขาใหญ่ แต่แข้งค่อนข้างยาว ลำตัวทอด ท่ายืนผึ่งผาย เวลาเดินนวยนาดดั่งนักมวยรำมวย คือเมื่อยกเท้าขึ้นย่างก้าวเดิน นิ้วทั้ง 3 จะกำ และเท้าลงจะถึงพื้น จึงจะแบออก เป็นไก่ที่มีรูปทรงสง่างาม
3. ไก่ขนาดเล็ก น้ำหนักตั้งแต่ 2 ก.ก. ลงมา ถึง 1.5 ก.ก. ถ้าเล็กเบาไปกว่านี้ก็เป็นไก่แคระพันทางอูไปแล้ว มีรูปทรง 3 แบบ คือ ทรงสามเหลี่ยม สูงเล็กยาว ขนยาว หางยาว ทรงรูปไข่ หางน้อย สร้อยสั้น และทรงล่ำแต่เล้ก หางหก อกตั้ง
ไก่ชนที่นิยมกันมากมักเป็นไก่รอยใหญ่ ขนาดเล็กมีเหมือนกันแต่มักจะไม่ค่อยได้คู่ แต่ไก่อูขนาดใหญ่จริง ๆ นั้นก็หายาก เวลาผสมพันธุ์ก็หาตัวเมียขนาดใหญ่ยาก จึงมักจะใช้ไก่ขนาดกลางเป็นคู่ผสมลูกที่ออกมาบางทีก็เป็นไก่อูขนาดใหญ่ บางทีก็เป็นขนาดเล็กไม่แน่นอน การที่นักเลงไก่ชนพยายามเสาะแสวงหาไก่อูพันธุ์แท้ ก็เพื่อจะได้เลือดไก่บริสุทธิ์ลงเหล่า เพราะไก่อูพันธุ์แท้ ๆ นั้นจะเหนียว อึด สูตายคาแข้ง ส่วนไก่พันธุ์ไม่แท้ หากได้คู่ที่อึดและตีได้รุนแรง จะถอดใจง่าย ๆ คือ พอถูกตีเจ็บเข้าไม่กี่ครั้งก็วิ่งหนีเอาดื้อ ๆ เข้าทำนองท่าดีทีเหลว