ไก่บุรีรัมย์
ไก่บุรีรัมย์ ถือได้ว่าเป็นไก่พันธุ์ดุอีกสายพันธุ์หนึ่งแห่งภาคอีสาน แม้ว่าไก่บุรีรัมย์ไม่ใช่ไก่เชิงที่มีลีลาลวดลายแพรวพราว แต่เป็นไก่เแข็งแกร่ง ตีเจ็บ ตีฝากแผล และ มีเชิง ที่ถือว่าเป็นยอดเชิงคือ “เชิงม้าล้อ” ซึ่งเป็นเชิงชนที่จะไม่เข้าประชิดติดพัน ไม่มีการแลกลำแลกแข้งชนิดใครดีใครอยู่ แต่จะออกวิ่งหนีให้อีกฝ่ายวิ่งไล่ตาม พอได้จังหวะ จะหันกลับมาสาดตีชนิดไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว หรือถ้าฝ่ายคู่ต่อสู้ซึ่งวิ่งไล่ตามเกิดเสียหลัก ไก่ม้าล้อจะหวนกลับมาโจมตีซ้ำเติมทันที
ไก่ม้าล่อเป็นไก่ที่ไก่เชิงอื่นๆ หรือไก่ตั้งไม่มีทางสู้ เพราะไม่ยอมให้มุดมัด ขี่ ล็อกได้ ส่วนไก่ตั้ง หมดสิทธิ์จะทำอะไรได้ เพราะเพื่อนไม่ยอมหันหน้ามาปักหลักโต้ นอกจากวิ่งนำหน้าลูกเดียว ฝ่ายตรงข้ามกำลังตามหลังเพลิน ๆ ไก่ม้าล่อจะหันกลับมาหวดเปรี้ยง ๆ แล้ววิ่งต่อ พอวิ่งไล่นาน ๆ เข้าย่อมหมดแรง เปิดโอกสารให้ม้าล่อยำเละเทะสบายไป
แต่จุดอ่อนของไก่ม้าล่อก็มีเหมือนกัน คือเป็นม้าล่อไม่แท้ วิ่งล่อไม่ตลอด หยุด ๆ วิ่ง ๆ ก็มีสิทธิ์ถูกคู่ต่อสู้ตีเอากระเจิดกระเจิง หรือเป็นม้าล่อเทียม คือวิ่งแล้ววิ่งเลย ยอมแพ้เอาง่าย ๆ ก็มี หรือเป็นไก่ฟิตซ้อมมาไม่เต็มที่พอถูกเจ็บ ๆ เข้าวิ่งหนีได้พักเดียว หมดแรงวิ่งไม่ออก ถูกคู่ต่อสู้ตามทันก็มีสิทธิ์แพ้อีกเช่นกัน ซึ่งธรรมชาติของไก่ม้าล้อเป็นไก่วิ่งเร็ว จึงมีรูปร่างสูงเพรียว ลักษณะปราดเปรียวจำเป็นต้องได้รับการฟิตซ้อมให้แข็งแกร่ง มีพละกำลังมาก เนื่องจากต้องใช้แรงในการออกวิ่งล่อ กำลังขาต้องดี ถ้าฟิตซ้อมไม่ถึงขนาดโอกสารแพ้จะมีสูง
เมื่อก่อนนี้ไก่บุรีรัมย์มีไก่สายพันธุ์ม้าล่ออยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นที่หวงแหนอย่างยิ่ง ผู้ที่มีไก่เชิงม้าล่อจะรักษาแม่พันธุ์เอาไว้อย่างดี และสืบทอดต่อเนื่องสายพันธุ์นี้เอาไว้ตลอดมา แต่การผสมพันธุ์ในหมู่วงศาคณาญาติเดียวกัน รูปร่างและชั้นเชิงความเก่งจึงเสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะไม่ได้พัฒนาด้วยการผสมพันธุ์ข้ามสายเลือด ต่อมาผู้เลี้ยงไก่รุ่นใหม่ได้พัฒนาสายเลือดสายพันธุ์กันใหม่ โดยการนำไก่ภาคกลางและภาคอื่น ๆ ขึ้นไปผสม แต่ยังยึดเอาแม่พันธุ์บุรีรัมย์เป็นตัวยืน ทำให้เชิงชนของไก่บุรีรัมย์ มีคุณสมบัติสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นเชิงชน เพลงตี ความทรหดอดทน และเชิงม้าล่อ อันเป็นสายพันธุ์ของบุรีรัมย์แต่ดั้งเดิมเป็นการผสมผสานลีลาเชิงชนระหว่างไก่อีสานและไก่ต่างถิ่นที่น่าสนใจ