ไก่ชนก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเจ็บป่วยได้เหมือนสัตว์ทั่วไป เวลาเลี้ยงนั้นผู้เลี้ยงก็ต้องใส่ใจดูแล ทั้งป้องกันโรคและวิธีการรักษาหากเกิดการเจ็บป่วย ดังนั้น เรามีมารู้จักโรค อาการ และวิธีการรักษาและป้องกันโรคที่พบในไก่ชนกันเลยค่ะ
โรคหวัด
อาการ : จาม มีน้ำมูก หายใจลำบาก
การรักษา : ให้ยาเอวีซิน บี12 3เอ็กซ์ ละลายน้ำให้ไก่กิน 8 กรัม/น้ำ 1 ลิตร กินติดต่อกัน 3-5 วัน ถ้ายังไม่หาย ให้ฉีดยาลินโคสเปคตินชนิดฉีดปริมาณ 0.5 ซีซี/น้ำหนักตัวไก่ 3 กิโลกรัม
การป้องกัน : ให้ยาเอวีซิน บี12 3เอ็กซ์ หรือยาลินโคสเปคตินชนิดผง 4 กรัม/น้ำ 1 ลิตร กินติดต่อกัน 3 วันในช่วง 3 วันแรกเกิด
โรคคอครอก
อาการ : มีเสียงเสลดในลำคอเวลาหายใจ ส่วนใหญ่มักนอนในที่สูง หรือที่โล่งๆ หรือเจอในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
การรักษา : ให้ยาเอวีซิน บี12 3เอ็กซ์ โรยคอ ครั้งละ 1 กรัม ติดต่อกัน 3-5 วัน
การป้องกัน : จัดการสภาพการเลี้ยงให้ดี หรือให้ยาป้องกันในช่วงที่อากาศเปลี่ยน
ท้องเสีย (ขี้เขียว ขี้ขาว)
อาการ : เกิดจากติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินทางอาหาร หรือเกิดจากการบาดเจ็บหลังชน ทำให้แพร่เชื้อลงในกระเพาะอาหาร มีขี้ปนเมือก สีขาว และสีเขียว มักมีอาการอาหารไม่ย่อยร่วม
การรักษา : ให้ยาออกตามิกซ์ละลายน้ำให้ไก่กินติดต่อกัน 3-5 วัน ขนาด 8 กรัม/น้ำ 1 ลิตร
ตาเจ็บ
อาการ : บวมแดง มีน้ำตาไหล มีฟองอากาศ
การรักษา : ให้ยาลินโคสเปคตินชนิดผง ละลายน้ำให้ไก่กิน 3-5 วัน ขนาด 8 กรัม/น้ำ 1 ลิตร หรือใช้ยา Terramycin ป้ายตา 3 วันติดต่อกัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ฉีดยาลินโคสเปคตินชนิดฉีด ปริมาณ 0.5 ซีซี/น้ำหนักตัวไก่ 3 กิโลกรัม
เหน็บเสี้ยน
อาการ : เกิดจากการกดทับบริเวณข้อพับเป็นเวลานาน มักเกิดกับไก่ที่มีอายุมากและน้ำหนักมาก ไก่จะมีอาการเส้นยึด ยืนเดินลำบากเนื่องจากเส้นเอ็นอักเสบ
การรักษา : ทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ และทายาไดโปรซาลิคบริเวณข้อพับทุกๆ วัน
คอดอก
อาการ : เกิดเกล็ด หรือดอกสีขาวบริเวณหลอดอาหาร ช่องปากมีกลิ่นเหม็น ชอบอ้าปากหายใจ
การรักษา : ปลิ้นกระเดือกเอาเกล็ด หรือดอกสีขาวออก ใช้ยาเจนเชี่ยนไวโอเลตป้ายบริเวณแผล หรือใช้ยาเจนเชียนไวโอเลต ปั่นคอ เช้า-เย็น
อุ้งเป็นหน่อ ตาปลา
อาการ : มีหน่อหรือตาปลาบริเวณอุ้งเท้า เดินลำบาก
การรักษา : รักษาตามอาการ ทำความสะอาดบริเวณอุ้งเท้า เช้า -เย็น ปิดแผลด้วย พลาสเตอร์ยา จนแผลหายสนิท
ข้อแนะนำในการใช้ยา
- ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่มีการป่วยเท่านั้น และไม่ควรใช้เกินกำหนดอายุ
- การใช้ยา จะต้องมีการลงบันทึกในใบรายงานทุกครั้ง เช่น Lot. No. ปริมาณและผู้ใช้ยา
- ยาชนิดฉีด ต่างชนิดกันให้แยกไซริงค์ที่ใช้
- อุปกรณ์การฉีดยา ควรนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ และตรวจสอบสภาพก่อนนำไปใช้
- เลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับโรค
- ใช้ขนาดที่ถูกต้อง
- ใช้ความถี่ที่ถูกต้อง
- เก็บรักษาในที่ แห้ง ร่ม เย็น มีฉลากบอกวิธีการใช้
- อุปกรณ์ที่ให้ควรทำความสะอาดก่อนและหลังใช้งาน
- กรณียาที่เป็นผงจะต้องละลายให้หมด