การเลี้ยงไก่ชนในสมัยก่อนไม่นิยมสร้างเล้า แต่จะปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ นอนตามต้นไม้หรือใต้ถุนบ้าน ไก่ตัวใดที่จะนำมาฝึกเป็นไก่ชนจึงจะนำมาเลี้ยงขับสุ่มเดี่ยวๆ แต่วิธีการดังกล่าวในปัจจุบันไม่ค่อยเหมาะสมเท่าใดนัก เพราะดูแลไก่ได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะไก่เล็กและแม่ไก่อาจได้รับอันตรายจากศัตรูไก่ต่างๆ หรือแม้แต่ขโมย และการปล่อยให้ไก่นอนใต้ถุนบ้าน ไร หมัด หรือเหา จากตัวไก่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยให้การจัดการต่างๆ ได้สะดวกขึ้น เช่น การป้องกันรักษาโรคหรืออันตรายจากศัตรูไก่ การให้อาหาร การผสมพันธุ์ และ การจำหน่าย เป็นต้น
เล้าไก่ชน
เล้าไก่ชนอาจสร้างเป็นเพิงหมาแหงน เพิงหมาแหงนกลาย แบบหน้าจั่ว หรือหน้าจั่วกลางก็ได้ ขอเพียงให้สามารถกันแดดกันฝน ป้องกันศัตรูต่างๆ เช่น สุนัข แมว งู และอื่นๆ ได้ เป็นโรงเรือนที่โปร่ง การระบายอากาศดี ลมไม่โกรกเกินไป รักษาความสะอาดได้ง่าย และมีราคาถูก โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ จาก หรือ หญ้าคา เป็นต้น ภายในเล้าควรมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่งๆ ดังนี้
1. รางน้ำ ต้องมีรางน้ำสะอาดให้ไก่กินตลอดเวลา อาจทำด้วยไม่ไผ่ผ่าครึ่ง หรือใช้รางน้ำพลาสติก หรือที่ให้น้ำแบบแขวนก็ได้หรืออาจทำขึ้นเอง โดยใช้กระป๋องเจาะรูที่ด้านข้างให้ห่างจากขอบประมาณ 1 เซนติเมตร ข้างละ 1 รู แล้วใส่น้ำสะอาดวางคว่ำลงบนจาน หรือถาดก็ได้
2. รางอาหาร ควรมีรางอาหารสำหรับใส่อาหารให้ไก่กิน เพื่อไม่ให้ไก่กินอาหารจากพื้นดิน จะทำให้ไก่เป็นโรคพยาธิได้ง่ายอาจใช้รางสังกะสี หรือทำด้วยปล้องไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ หรือใช้ไม้ตีเป็นรางก็ได้ ขนาดของรางอาหารและจำนวนของอาหารต้องมีพอเพียงกับจำนวนไก่ เพราะไก่มักจะกินอาหารพร้อมๆ กัน หากรางอาหารไม่พอจะทำให้ไก่จิกกันได้
รางอาหารสำหรับลูกไก่ในวันแรกๆ ควรใช้ถาดหรือภาชนะตื้นๆ เมื่อลูกไก่โตขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นถาดอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ลูกไก่ขนาด 0-4 สัปดาห์ จำนวน 10 ตัว ควรใช้รางอาหารชนิดกันได้ 2 ด้าน ยาว 4 ฟุต จำนวน 2 ราง และเมื่อลูกไก่อายุ 4-8 สัปดาห์ จำนวนรางอาหารต้องเพิ่มอีก 1 ราง รวมเป็น 3 ราง หรือพิจารณาให้พอเดียง หรือยืดตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
ไก่เล็ก 10 ตัว ใช้รางอาหารยาว 20 เซนติเมตร
ไก่รุ่น 10 ตัว ใช้รางอาหารยาว 50 เซนติเมตร
ไก่ใหญ่ 10 ตัว ใช้รางอาหารยาว 100 เซนติเมตร (1 เมตร)
รางอาหารสำหรับไก่ชนขนาดใหญ่ที่นำมาเลี้ยงเข้าสุ่ม นิยมใช้กะลามะพร้าวหรือภาชนะอย่างอื่นที่ไม่แข็ง เช่น ขวดพลาสติก เพื่อป้องกันปากไก่ฉีกหัก ส่วนที่ให้น้ำอาจใช้ขวดพลาสติกตัดครึ่งแล้วเจาะรูร้อยลวดให้ติดไว้กับสุ่มเป้นการถาวรเลยก็ได้ โดยกะระยะความสูงให้ไก่กินถึงพอดี
3. รางใส่กรวดและเปลือกหอยผสมเกลือ ไก่ชนทุกขนาดจำเป็นต้องกินกรวดและเปลือกหอยป่น เพื่อนำไปสร้างกระดูกและเปลือกไข่ จึงต้องมีวางตั้งไว้ให้ไก่กินได้ตลอดเวลา โดยใช้รางที่มีลักษณะเหมือนรางอาหารก็ได้
4. รังไข่ ปกติแม่ไก่อูเมื่อไข่ได้ 10-12 ฟองก็จะเริ่มฟักไข่จึงต้องจัดเตรียมรังไข่ให้มีจำนวนเพียงพอเท่ากับจำนวนแม่ไก่ เพื่อไม่ให้แย่งรังกัน รังไข่ควรกว้างยาว 1 ฟุต สูง 10 นิ้ว หรือใช้เข่งกระชุ บุ้งกี้ รองด้วยฟางแห้ง หรือหญ้าแห้งให้หนาพอสมควร ตั้งไว้ในที่มิดชิด แสงแดดและฝนสาดไม่ถึง แม่ไก่เข้าออกสะดวก
5. ม่านกันฝน ด้านที่ฝนสาดหรือแดดส่องมาก ๆ ควรมีผ้าใบ หรือกระสอบป่าน หรือเสื่อเก่าๆ ห้อยไว้ โดยเฉพาะบริเวณมุมที่วางไข่
6. คอนนอน คอนสำหรับให้ไก่นอนควรพาดไว้มุมใดมุมหนึ่งของเล้า คอนนอนควรเป็นไม้กลมดีกว่าไม้เหลี่ยม ซึ่งไก่จะจับคอนได้ดีเหมือนธรรมชาติ และเป็นการป้องกันไม่ให้ไก่เกิดแผลที่หน้าอกได้
สำหรับคอนนอนของไก่ชนที่แยกออกมาฝึกฝน หรือได้ผ่านการเข้าสังเวียนมาแล้ว ต้องทำเป็นคอนนอนเดี่ยว ตั้งไว้ในที่อากาศปลอดโปร่ง ไม่มีกลิ่นเหม็นของขยะหรือของเน่าอื่นๆ โดยใช้ไม้กลมขนาดเส้นรอบวง 25 เซนติเมตร ให้อยู่สูงกว่าพื้นประมาณ 1 เมตร มีกะบะไม้ใส่ทรายหรือแกลบข้างล่างเพื่อรองรับมูล และมีมุ้งผ้าหรือมุ้งลวดการป้องกันยุงกัดด้วย ที่นอนไก่ชนต้องทำความสะอาดและนำมูลทิ้งทุกวัน ในบริเวณที่นอนอย่าให้มีแสงไฟเป็นอันขาด เพราะไก่จะไม่หลับ และไม่ควรให้ไก่ชนนอนกับพื้น
สุ่มไก่
สุ่มไก่ที่ดีต้องมีขนาดพอเหมาะ ไม่แคบหรือกว้างเกินไป เมื่อจะจับไก่ออกมาให้ใช้มือสอดเข้าจับลำตัวไก่พอดี ถ้ากว้างเกินไปจะทำให้จับไก่ลำบาก หรือถ้าแคบเกินไปไก่จะอึดอัดแคบในการกระพือปีก ทำให้ปีกกระทบสุ่มขาดได้ ลักษณะของสุ่มไก่ชนที่ถูกต้องที่สุด ต้องทำด้วยไม้ไผ่ลักษณะทรงกลมขัดกันเป็นช่องห่าง มีตอกยืน 19 หรือ 21 ตอก ตอกขัดจำนวน 6-7 ตอก ตอกขัดต้องหนากว่าตอกยืนเล็กน้อย เมื่อสานแล้วสุ่มต้องมีขนาดสูง 120 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 90-100 เซนติเมตร ขนาดของตาพอสอดมือเข้าออกได้สะดวก ส่วนสุ่มที่ขังลูกไก่ต้องกว้างเตี้ย และตาถี่กว่านี้
ลานหรือสนาม
ไก่ชนมีนิสัยเหมือนกับไก่พื้นบ้านทั่วไปคือชอบอยู่ใกล้ๆ กับธรรมชาติของมัน และที่พิเศษออกไปคือชอบกระโดดโลดเต้น วิ่งไปมา ไม่อยู่นิ่ง ดังนั้นจึงต้องมีลานกว้างๆ เพื่อให้ไก่ได้ออกเดินคุ้ยเขี่ยอาหารจิกกินตามสบาย ได้คลุกเคล้านอนกับฝุ่นทราย หรือพักเล่นตามแสงแดด หรือริมทาง
สถานที่ที่เหมาะเป็นลานสำหรับไก่ชนควรเป็นสนามหญ้าที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ด้วย หากต้นไม้ใหญ่เป็นไม้ผลที่ไก่กินได้ด้วยยิ่งเหมาะ ในสถานที่ดังกล่าวจะมีต้นไม้ ใบหญ้า หนอน แมลง สัตว์เล็กๆ และดักแด้ ให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยกัน สถานที่ที่เหมาะสมอีกอย่างคือทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ไก่จะได้รับอาหารจากเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกหล่น พืชและสัตว์เล็กอื่นๆ อย่างอุดมสมบูรณ์ ความชื้นของดินก็พอเหมาะ อุณหภูมิของอากาศก็เย็นสบายพอดี
ลานไก่ชนนี้นอกจากใช้เป็นที่ให้ไก่คุ้ยเขี่ยอาหาร และให้ไก่ใช้ออกกำลังไปในตัว ยังใช้เป็นที่ฝึกฝนและฝีกซ้อมไก่ชนไปในตัวด้วย ดังนั้นในการเลี้ยงไก่ชน ลาดดินหรือสนามหญ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียไม่ได้