หลังจากนำไก่มาครอบสุ่ม ฝึกซ้อมพร้อมกับลองปล้ำดูชั้นเชิง เมื่อพิจารณาแล้วว่าไก่ตัวดังกล่าวมีแววที่เลี้ยงออกชนได้ ก็ฝึกกำลังและมีการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่อาหารที่ได้รับในแต่ละวัน การกินได้ อาหารเสริม การฝึกซ้อม ตลอดจนความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งตรงนี้แต่ละที่แต่ละซุ้มก็มีเทคนิค และวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและมุมมองของเจ้าของไก่เองด้วย
“21 วัน” เลี้ยงก่อนออกชน เห็นผลชัดเจน
สูตรการเลี้ยง 21 วัน เป็นการเตรียมตัวสำหรับไก่ที่ออกชน ถือเป็นรูปแบบที่ผู้เลี้ยงไก่ชนส่วนใหญ่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่หลายคนอาจพัฒนารูปแบบการเลี้ยงมาเป็น 14 วัน หรือ 7 วัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของไก่ และความพึงพอใจของผู้เลี้ยงอีกเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการเลี้ยงไก่ออกชน ยิ่งเลี้ยงนานยิ่งเป็นผลดีเนื่องจากไก่ได้มีเวลาฝึกซ้อมที่ต่อเนื่อง สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายได้มากขึ้น ผู้เลี้ยงที่ใช้เวลาน้อยแล้วใจร้อนอยากนำไก่ออกไปชน ส่วนใหญ่มักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การเลี้ยงไก่ชนต้องอาศัยเวลา ไก่ต้องมีความสมบูรณ์และแข็งแรงเต็มที่ และต้องฝึกหรือมีการออกกำลังกายตามที่ได้กำหนดเอาไว้ไม่ใช่ขังไว้ในสุ่มเพียงอย่างเดียว แม้ได้ไก่เก่งมาแต่โอกาสที่จะชนะคงเป็นเรื่องยาก การเลี้ยงไก่ชนนอกจากฝีมือแล้ว สภาพร่างกายถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
หลังจากผู้เลี้ยงได้ฝึกซ้อมและนำไก่ออกปล้ำจนเกิดความแข็งแกร่งได้ตามที่ต้องการ เชิงชนนิ่งเป็นที่น่าพอใจแล้ว ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการของไก่ว่าเป็นอย่างไร เมื่อถูกคู่ต่อสู้ตี ฟื้นตัวได้รวดเร็วไหม หน้ายังบวม มีอาการซึม หรือยืนหลับไหม หลังปล้ำแล้วยังคึกคักเหมือนเดิมหรือเปล่า กินข้าวได้ปกติไหมแล้วย่อยได้หมดหรือไม่ ซึ่งอาการเหล่านี้บ่งบอกถึงความพร้อมในการออกชน หากไก่ปล้ำมาแล้วใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว ยืนซึม ต้องคอยป้อนข้าวป้อนน้ำ ลักษณะเช่นนี้ต้องซ้อมหรือนำไปปล้ำอีกสัก 2-3 ครั้ง ยังไม่ควรที่นำไปออกชน
หากหลังปล้ำไก่มีอาการที่ดี กิน เดิน นอนได้ตามปกติ ผู้เลี้ยงก็ต้องมาดูประวัติการซ้อมประกอบกันว่า ลงนวมได้กี่อันและปล้ำไปได้กี่ยก แม้มีอาการที่ดีแต่ยังปล้ำได้ไม่มาก 5-6 อัน ก็ยังไม่ควรนำไปออกชนเช่นกัน ต้องปล้ำเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 7-8 อัน เพื่อให้ไก่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย ไก่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและซ้อมได้ตามที่กำหนดก็ต้องปล้ำอีก 1 ครั้ง จำนวน 2 อัน เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งคนและไก่ จากนั้นอีก 3 สัปดาห์หรือ 21 วัน ก็เขาโปรแกรมการเลี้ยงเพื่อออกชน อย่างไรก็ดี หากปล้ำอันสุดท้ายแล้วไก่ยังมีอาการไม่ดี ก็ต้องยืดระยะเวลาการฝึกซ้อมออกไปก่อน จนกว่าไก่จะสมบูรณ์แข็งแรงจริงๆ ถึงจะนำออกไปชนได้
เมื่อเลี้ยงไปแล้วก็ต้องพิจารณาอีกว่าเมื่อครบกำหนดการเลี้ยงแล้วไก่ยังมีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ โดยดูจากการกินข้าว การย่อย รวมทั้งการนอน หากนอนคอพับไปด้านหลังแสดงว่ายังไม่สมบูรณ์ และถ้ามีอาการป่วย หรืออักเสบจากด้านในให้สังเกตได้จากมูลที่ถ่ายออกมา ไก่ที่มีสุขภาพดีมูลที่อยู่ในสุ่มต้องติดกันเป็นก้อนเดียว แต่ถ้ากระจายเต็มพื้นสุ่มแสดงว่าไก่ไม่สมบูรณ์ นอนไม่หลับ ไก่ชนที่สมบูรณ์ต้องนอนที่เดียวและถ่ายมูลรวมเป็นก้อนเดียว หากไก่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่หรือมีอาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ อย่าเพิ่งนำออกชนเด็ดขาด
หลังจากปล้ำอันสุดท้าย รักษาแผลเสร็จเรียบร้อย หากไก่มีอาการที่ดีแสดงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่ออกชนแล้ว ก็เข้าสู่โปรแกรมเลี้ยง 21 วัน โดยมีตารางการฝึกซ้อม ดังนี้
วันที่ 1-3
ช่วงเช้า ประมาณ 06.00-06.30 น. นำไก่ปล่อยเดินตาข่าย ให้ไก่ได้เคลื่อนย้ายร่างกายได้อย่างอิสระประมาณ 30 นาที จากนั้นก็นำมาวิ่งสุ่มโดดหลุมหรือล่อ อย่างใดอย่างหนึ่งสลับกันไปในแต่ละวัน โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไก่มาหยอนคอและเช็ดน้ำ นวดหรือประคบกระเบื้องส่วนต่างๆ ของร่างกาย เสริมด้วยอาหารเสริมหรือสมุนไพร จากนั้นก็นำไก่กราดแดด พร้อมกับให้กินข้าว
เวลาประมาณ 10.00-11.00 น. นำไก่เข้าร่ม หยอนคอ พัก 5-10 นาที ถึงจะให้กินน้ำ
เวลา 12.00 น. ให้ไก่กินแตงกวาหรือผักต่างๆ จากนั้นอาจปล่อยให้วิ่งเล่นในตาข่ายหรือปล่อยให้วิ่งสุ่มก็ได้ ซึ่งช่วงนี้ไก่อาจจะวิ่งหรือไม่วิ่งก็ได้ไม่เป็นไร เพราะถือว่าได้ออกกำลังกายมาแล้ว
เวลาประมาณ 15.00 น. ก็นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด พอตัวแห้งก็นำไปปล่อยตาข่ายอีกครั้ง
เวลาประมาณ 17.00-18.00 น. ให้ไก่กินข้าวพร้อมเสริมยาบำรุงจำพวกโปรตีน และต้องให้ไก่ได้กินหญ้าเพื่อป้องกันท้องผูก
เมื่อค่ำก็นำไก่เข้านอน กางมุ้งกันยุงให้เรียบร้อย ซึ่งทำให้ลักษณะนี้ทุกวัน หากไม่มีโปรแกรมฝึกซ้อมอย่างอื่น
วันที่ 4
ตอนเช้า ประมาณ 06.00-06.30 น. นำไก่ออกมาปล่อยเดินตาข่ายเหมือนกับทุกๆ วัน เพื่อให้ผ่อนคลาย และแสดงพฤติกรรมธรรมชาติได้อย่างปกติ ประมาณ 30 นาที
จากนั้นก็ลงนวมไก่ พันนวมและนิ้วให้เรียบร้อย โดยเลือกไก่นวมที่มีขนาดใกล้เคียงค่อนไปทางเล็กกว่านิดหน่อย เพื่อให้ไก่ที่เลี้ยงได้เปรียบ อย่าเลือกไก่นวมที่ใหญ่หรือแข็งกว่าไก่ที่เลี้ยง เพราะอาจทำให้ไก่ที่เลี้ยงออกชนได้รับการบาดเจ็บได้ ใช้เวลาลงนวม 20-25 นาที ให้ได้ 2 ยก แต่ใช้เวลาพัก 10-15 นาที จากนั้นเช็ดน้ำ นวดส่วนต่างๆ ของร่างกาย นำไปกราดแดดให้ขนแห้ง ให้อาหาร นำเข้าร่มหยอนคอให้กินน้ำ เสร็จแล้วปล่อยเดินตาข่ายหรือให้วิ่งสุ่มก็ได้
เวลาประมาณ 15.00 น. ก็นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด จากนั้นจัดการเหมือนกับทุกๆ วัน
วันที่ 5-6 ทำเช่นเดียวกับวันที่ 1
วันที่ 7
ตอนเช้า ประมาณ 06.00-06.30 น. นำไก่ออกมาปล่อยเดินตาข่ายประมาณ 30 นาที จากนั้นลงนวมจำนวน 2 ยก ยกละ 20-25 นาที ใช้เวลาพักยก 10-15 นาที เสร็จแล้วก็เช็ดน้ำ กราดแดดให้อาหาร
ประมาณ 10.00-11.00 น. นำเข้าร่ม หยอนคอ ให้กินน้ำ แล้วปล่อยให้ไก่เดินตาข่าย ทำให้ไก่ได้เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งแสดงพฤติกรรมทางธรรมชติ เช่น คุ้ยเขี่ย กระพือปีก และเดินได้อย่างอิสระ
เวลาประมาณ 15.00 น. ก็นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด จากนั้นจัดการเหมือนกับทุก ๆ วัน
วันที่ 8
หลังจากปล่อยให้ไก่ได้เดินตาข่ายในช่วงเช้าแล้ว ก็ให้นำมาล่อ โดยให้วิ่งวนไปมาทั้งซ้ายและขวาพร้อมให้ไก่วิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้เวลาการล่อประมาณ 15-20 นาที หรือให้ไก่ได้กระโดดขึ้นมาเตะตัวล่อให้ได้สัก 40-50 ครั้ง จากนั้นนำไปหยอนคอ เช็ดน้ำเสริมอาหาร กราดแดด ให้อาหาร
ประมาณ 10.00-11.00 น. นำเข้าร่ม หยอนคอให้กินน้ำ แล้วปล่อยให้ไก่เดินตาข่าย
เวลาประมาณ 15.00 น. นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด จากนั้นจัดการเหมือนกับทุกๆ วัน
วันที่ 9
หลังจากปล่อยไก่เดินตาข่ายในช่วงเช้าแล้ว นำมาวิ่งสุ่ม 20-30 นาที จากนั้นนำไปหยอนคอเช็ดน้ำ เสริมอาหาร กราดแดด ให้อาหาร
ประมาณ 10.00-11.00 น. นำเข้าร่ม หยอนคอ ให้กินน้ำ แล้วปล่อยให้ไก่เดินตาข่าย เพื่อให้ไก่ได้เคลื่อนย้ายร่างกายอยู่เสมอ
วันที่ 10
หลังจากปล่อยไก่เดินตาข่ายในช่วงเช้าแล้ว ก็นำมาลงนวมอีก 2 ยก นำไปหยอนคอ เช็ดน้ำเสริมอาหาร กราดแดด ให้อาหาร
ประมาณ 10.00-11.00 น. นำเข้าร่ม หยอนคอให้กินน้ำ แล้วปล่อยให้ไก่เดินตาข่าย
เวลาประมาณ 15.00 น. นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด จากนั้นจัดการเหมือนกับทุก ๆ วัน
วันที่ 11-12 ทำเช่นเดียวกับวันที่ 1
วันที่ 13
หลังจากปล่อยไก่เดินตาข่ายในช่วงเช้าแล้ว ก็นำมาลงนวมอีก 2 ยก รวมเป็น 8 ยกพอดีและจะหยุดการลงนวมเพียงเท่านี้จากนั้นนำไปหยอนคอ เช็ดน้ำ กราดแดดให้อาหาร
ประมาณ 15.00 น. นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด จากนั้นจัดการเหมือนกับทุก ๆ วัน หลังจากนี้ควรงดอาหารเสริมทุกชนิด เพราะทำให้ไก่อ้วนเกินไป ส่วนยาบำรุงยังสามารถให้กินต่อได้
วันที่ 14-15 ทำเช่นเดียวกับวันที่ 1
วันที่ 16-17
ตอนเช้า ประมาณ 06.00-06.30 น. นำไก่ออกมาปล่อยเดินตาข่ายเหมือนทุกวัน หากไก่สมบูรณ์ดีจะสังเกตเห็นว่าไก่มีความคีกคะนองมากอาจบินขึ้นตาข่าย หรือแสดงอาการที่ต่อสู้เมื่อมีคนอยู่ใกล้ๆ
ขั้นตอนการเช็ดน้ำอาจมีการประคบร้อนหรือใช้เคาเตอร์เพนถูนวดแก้อาการฟกช้ำ หรือปวดเหมื่อยจากช่วงที่ฝึกหนักมาตลอดกว่า 10 วัน วันนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่ดำเนินการเลี้ยงเหมือนปกติทุกวัน
วันที่ 18-20
เป็นวันที่ไก่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่จะไม่มีการฝึกซ้อมแต่อย่างใด แต่อาจให้วิ่งสุ่มหรือปล่อยเดินตาข่าย เพื่อให้ไก่เคลื่อนย้ายร่างกายได้ตามปกติ
ช่วงเช็ดน้ำตอนเช้า มีการนวดเพื่อให้ไก่สบายตัวคลายเส้น นำไปกราดแดด ไก่ก็จะคลายเส้น เนื้อหนังปกติ ไก่ที่พร้อมชนจะมีสีผิวดี หนังแดง ขนมันวาว
เวลาประมาณ 15.00 น. ก็นำไก่มาเช็ดน้ำ กราดแดด พอตัวแห้งก็นำไปปล่อยเดินตาข่าย
เวลาประมาณ 17.00 น. ให้ไก่กินข้าว เมื่อค่ำก็นำไก่เข้านอน กางมุ้งกันยุงให้เรียบร้อย