วิถีการเจริญเติบโตของไก่พื้นเมืองสู่วิถี “ไก่ชน”

หน้าแรก »การผสมพันธุ์ไก่ชน » วิถีการเจริญเติบโตของไก่พื้นเมืองสู่วิถี “ไก่ชน”

ร.ต.ท.ไพโรจน์  เหมฤดี (ปราชญ์ไก่ชนเมืองพิษณุโลก) ได้ให้ความรู้เรื่องวงจรชีวิตของไก่ชน มีขั้นตอนการเรียกชื่อว่าอะไร  เพราะจะทำให้การพัฒนาไก่พื้นเมืองประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ซึ่งร.ต.ท.ไพโรจน์ได้สรุปวงจรชีวิต วิถีการเจริญเติบโตของไก่พื้นเมือง  ดังนี้

วิถีการเติบโตของไก่พื้นเมือง

การเติบโตของไก่ไทย รวม 11 ช่วงการเจริญเติบโตดังขั้นตอน  ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1  :  จะเป็นไก่แรกเกิด เรียกว่า ลูกเจี๊ยบ ยังไม่สามารถรู้เพศที่ชัดเจนได้

ขั้นตอนที่ 2 :  เมื่ออายุได้ 2-3 เดือน  จะเป็นไก่เรียกว่า “ลูกไก่แทงสี” สามารถรู้เพศ ผู้-เมีย  แล้วอย่างชัดเจน

ขั้นตอนที่ 3 :  ลูกไก่ อายุ 3-4 เดือน ถ้าเลี้ยงปล่อยแบบธรรมชาติ ลูกไก่ขนาดนี้จะถูกแม่ไก่ทิ้งให้หากินเอง นอนเอง  โดยแม่ไก่จะออกห่างๆ หรือจะเรียกว่า ลูกไก่หย่าแม่ก็ได้

ขั้นตอนที่ 4 :  เมื่ออายุได้ 4-6 เดือน จะเรียกว่า “ลูกไก่กระทง” เพศผู้จะเริ่มออกสีตามตัว ตามสายพันธุ์นั้น ๆ ที่นำมาผสมพันธุ์ไว้

ขั้นตอนที่ 5 :  จะเป็นไก่รุ่น อายุ 6-7 เดือน เป็นไก่ที่เริ่มจะเป็นหนุ่ม-เป็นสาว ตัวผู้จะเริ่มหัดขัน และเริ่มเรียกหาตัวเมีย บางทีตัวผู้ก็เริ่มจะหัดตี  โดยจับคู่หยอกล้อกันและกัน  ไก่วัยนี้เริ่มจะแต่งตัวไซ้ซน  เพื่อพร้อมจะเป็นหนุ่มและพร้อมจะผสมพันธุ์ได้แล้ว

ขั้นตอนที่ 6 :  จะเป็นไก่หนุ่ม  อายุ 7-8 เดือน เป้นไก่หนุ่มเต็มวัย  ส่วนตัวเมียก็เป็นสาวเต็มวัยเช่นกัน เริ่มจะติดตัวผู้พร้อมผสมพันธุ์ได้

ขั้นตอนที่ 7 :  จะเป็นไก่หนุ่มใหญ่  อายุ 8-10 เดือน ตัวผู้วัยนี้จะนำไปเลี้ยงเป็นชนได้อย่างเต็มที่ โดยเจ้าของไก่ต้องนำไก่ของตนทำการเลี้ยงเสียก่อน  การเลี้ยงต้องเริ่มทำการกาดน้ำไก่ (อาบน้ำไก่) ให้เปียกทั้งตัวแล้วนำไก่ไปตากแดด โดยนำไก่เข้าไปใส่สุ่ม  แล้วทิ้งไว้กลางแดดพอประมาณให้คอยสังเกตดูไก่ เริ่มหอบก็พอแล้ว จากนั้นก็นำไก่เข้าร่ม ทำอย่างนี้ประมาณ 6-7 วัน แล้วหาอาหารและยาเพื่อบำรุงไก่  เมื่อเลี้ยงครบวันแล้ว จึงนำไก่ไปหาคู่ฝึกซ้อมเพื่อดูว่าไก่ตัวนี้แข็งแรงแค่ไหน  ตีถูกไก่หรือเปล่า ตีหนัก ตีแรงแค่ไหน เชิงชนเป็นแบบไหน เมื่อเราพอใจแล้วว่าไก่ตัวนี้ตีดี  จึงเริ่มนำไก่ไปฝึกซ้อม ออกกำลังกาย หาอาหาร ยางบำรุงไก่ให้ดี และเลี้ยงอย่างจริงจัง เพื่อนำไก่เข้าสนามไก่ชนตามความต้องการ

ขั้นตอนที่ 8 :  ไก่หลังชน  แพ้ หรือ ชนะ เจ้าของไก่ควรทำการรักษาตามสภาพไก่หลังชน เจ็บมากหรือเจ็บน้อยก็ควรรักษาให้ไก่หายโดยเร็ว จะหายาฉีด ยากิน ยาทา ใช้ได้ทั้ง 3 อย่าง แต่ที่เหมาะสมคือยาฉีด และยาทา ยากินไม่เห็นด้วยเพราะไก่หลังชนจะเจ็บช้ำ ไก่จะไม่ย่อยอาหารในกระเพาะยากินจึงไม่เหมาะกับไก่หลังชน

ขั้นตอนที่ 9 : ไก่พ่อพันธุ์ หลังชน ถ้าจะนำไก่หลังชนไปเป็นพ่อพันธุ์ ก็ควรจะดูไก่ตัวนั้นก่อนว่า สมบูรณ์แล้วหรือยัง โดยให้สังเกตุอาการต่างๆ ของตัวไก่ก่อนว่า หน้าแดงปกติหรือยัง ออกเสียงขันปกติหรือเปล่า ร่าเริงดีหรือยัง ถ้าไม่สมบูรณ์ไก่ตัวนั้นจะไม่สนใจแม่ไก่เลย แต่ถ้าไก่ตัวนั้นสมบูรณ์ปกติแล้ว จึงนำไปเลี้ยงชนและเป็นพ่อพันธุ์ต่อได้เลย

ขั้นตอนที่ 10 :  ไก่ชนลูกถ่าย  เมื่ออายุ 1-2 ปี ไก่จะถ่ายขน เรายังนำไก่ไปเลี้ยงชน หรือเป็นพ่อพันธุ์ได้ แต่ต้องทำการเลี้ยงดูแลอย่างดี จึงจะนำไปเลี้ยงขนและพ่อพันธุ์ต่อไปได้

ขั้นตอนที่ 11  :  ไก่อายุ 2 ปีขึ้นไป เป็นไก่ปลดระวางไม่ควรนำไปเลี้ยงชน หรือพ่อพันธุ์ต่อไป เพราะว่าไก่วัยนี้จะเชื่องช้า ถ้านำไปเป็นพ่อพันธุ์ก็ไม่ค่อยดี เพราะน้ำเชื้อไม่สมบูรณ์ มีโอกาสติดน้อยมาก จึงไม่ควรทั้ง 2 อย่าง