ในบรรดาสัตว์เศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้คนเกือบทุกภูมิภาคนั้น นอกจากวัว, กระบือ, ปลา และสุกรแล้ว ยังมี “ไก่ชน” ที่มูลค่าการตลาด บางตัวราคาสูงถึง 3-4 ล้านบาท และในแวดวง “กีฬาไก่ชน” บางคู่มีเดิมพันสูงกว่า 22 ล้านบาท เช่น “มณีแดง กับปิ่นเพชร” ที่สนามไก่ชนเทิดไท กรุงเทพฯ เมื่อปี 2558
สำหรับไก่ชน ในภาคเหนือนั้น จะมีแหล่งเลี้ยงใหญ่ ๆ 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก และลำพูน โดย “ไก่เหลืองหางขาว” เป็นที่รู้จักในตำนานไก่ชน ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ทรงใช้ตีเอาชนะไก่ชนของพระมหาอุปราชของเมียนมา
ส่วน “ไก่ป่าก๋อย” หรือพันธุ์เหล่าป่าก๋อย ถูกตั้งชื่อตามถิ่นกำเนิดที่บ้านเหล่าป่าก๋อย ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งมีจุดเริ่มจาก พ่อหลวงสุพจน์ วิจิตร ผู้ใหญ่บ้านป่ารกฟ้า ต.น้ำดิบ ช่วงที่ไปเป็นทหารเกณฑ์ หลังปลดประจำการจากค่ายแห่งหนึ่ง แถวภาคตะวันออก ได้นำไก่ชนเมืองจันทน์ กลับมาบ้านด้วย เป็นไก่สีเหลืองเลา มีการผสมสายพันธ์กันหลายรุ่น ด้วยการเลี้ยงไก่พื้นบ้านธรรมดา ๆ แต่สามารถพัฒนาความโดดเด่นของสายพันธุ์ไก่นักสู้ ทั้งเดินหน้า จิกตี จนสร้างความระบือลือลั่น ในแวดวง “การเลี้ยงไก่ชน” ต่อมามีผู้นิยมเลี้ยงไก่ชนต่างหมู่บ้าน นำไปเลี้ยงที่บ้านเหล่าป่าก๋อย และไก่ชนจากหมู่บ้านแห่งนี้ สร้างชื่อเสียงในสนามชนไก่ทั่วประเทศ จนได้รับการขนามนามว่า “ไก่เหล่าป่าก๋อย” เงินล้าน
ทั้งนี้ในแวดวงการเลี้ยงไก่พื้นบ้านนั้น ไก่ไทยจะมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้ง เขียวหางดำ, ประดู่เลาหางขาว, ทองแดงหางขาว, ประดู่หางดำ, นกกรดหางดำ และหลาย ๆ สายพันธุ์ ซึ่งล้วนเป็นพันธุ์ไก่ไทยดั้งเดิมมาแต่โบราณ ชาวบ้านเลี้ยงไว้บริโภค เลี้ยงไว้ชนกันเป็นกีฬา เพื่อนันทนาการ แต่ละภูมิภาคจะมีไก่พื้นเมือง พื้นถิ่น ขึ้นชื่อในแวดวงไก่ชน อาทิ ไก่ตราด ไก่พนัสนิคม ทางภาคตัวันออก และไก่ป่าก๋อย ทางภาคเหนือ
ในอดีตการเลี้ยงไก่ชน ถือเป็นเพียงรายได้เสริม เมื่อภาครัฐฯ ตระหนักถึงปัญหาการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ส่งผลต่อวงจรแบบต้นทุน ผลผลิตราคาตกต่ำ จนนำไปสู่การกระตุ้น ส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งปลูกพืชผัก ทำนา เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่
จากที่เคยเลี้ยงไก่ไว้บริโภคเนื้อและไข่ ปรากฎว่ากระแสความนิยม ในการนำไก่ที่มีคุณลักษณะตามสายพันธุ์จิกตี มาเปรียบ จับคู่ชนกัน เพื่อความสนุกตามประสาชาวบ้าน จนนำไปสู่โครงการอนุรักษ์ไก่พันธุ์พื้นเมืองสวยงาม ไก่ชนพื้นเมือง ผสมผสานกับการเปิดสนามไก่ชน เกือบทุกจังหวัด ซึ่งในภาคเหนือนั้น จังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน และเชียงราย ก็นับเป็นอีกพื้นที่ ซึ่งมีสนามไก่ชน ให้ผู้สนใจกีฬาไก่ชน มีสนามประลอง ไม่แตกต่างไปจากสนามวัวชน ทางภาคใต้, และกีฬารูปแบบต่าง ๆ ที่มีสัตว์เกี่ยวข้อง เช่น ม้าแข่ง และนกเขาชวา
มูลค่าการตลาดที่เพิ่มสูง จากการขายไข่ไก่ สายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงในสนามไก่ชน ราคาไม่น้อย บางตัวมีชื่อเสียง เพียงลูกไก่เล็ก ๆ คู่ละ 10,000-30,000 บาท เช่น มณีแดง ราคาไข่นำไปฟักเอง เมื่อ 4-5 ปีก่อน ฟองละ 3,000-8,000 บาท และหลาย ๆ ไก่ชนมีชื่อเสียงแต่ละจังหวัด จากไก่พื้นเมืองที่ขายตัวละไม่ถึง 200 บาท เพื่อบริโภคเนื้อ สามารถทำเงิน ด้วยมูลค่าทวีคูณ จากการขายลูกไก่ (ลูกเจี๊ยบ) ขายไข่
ปรากฎการณ์ “แห่เลี้ยงไก่ชน” จึงเริ่มต้นขึ้น ว่ากันว่าช่วงที่ตลาดมาแรง มูลค่าการตลาดไก่ชน สูงถึง 3-4 พันล้านบาท ไก่ชนมีชื่อเสียงติดอันดับในไทย แวดวงคนเลี้ยงไก่ชน จะทราบดีว่า “เจ้าโกโก้” ไก่ชนที่มาจากสายพันธุ์ซุ้มดังของนักการเมืองดังท่านหนึ่ง ค่าตัวสูงถึง 4 ล้านบาท ส่วน “เจ้ามณีแดง” ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ คู่เดิมพันสูงถึง 22 ล้านบาท เมื่อปี 58 นั้น ราคาราว ๆ 7 แสนบาท
กลุ่มเลี้ยงไก่ชน ป่าก๋อย บ.น้ำดิบ นครลำพูน กล่าวว่า การเลี้ยงไก่ชน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนรักกีฬาชนไก่ เพราะการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจทุกประเภท ตั้งแต่ วัวโคขาวลำพูน, วัวเนื้อ, วัวนม, หมู หรือปลา กระทั่งไก่ชนป่าก๋อย ต้องมีความใส่ใจ ดูแลสัตว์เลี้ยง
ไก่ชน มีราคาสูงกว่าไก่ทั่ว ๆ ไปก็จริง แต่การดูแล ก็ใส่ใจ ไม่ใช่ปล่อยตามธรรมชาติ ต้องมีการบำรุง ฉีดวัคซีน จัดโรงเรือนที่ดี ไก่ป่าก๋อย จะเป็นไก่ชนที่เด่นกว่าไก่ชนสายพันธุ์อื่น คือ จิกไม่ปล่อย เหนียว ลักษณะโครงสร้างเหมาะสำหรับเป็นไก่ชน ที่สำคัญ ลูกไก่ จะมีการรับประกันราคาซื้อคืนจากแหล่งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จึงกลายเป็นจุดเสริม กระตุ้นให้ผู้คน หันมาเลี้ยงไก่พันธุ์นี้
การคัดลูกไก่ เพื่อเข้าสู่วงการไก่ชนนั้น จะเลี้ยงตามธรรมชาติ พอระยะ 4-5 เดือน จะเริ่มเห็นโครงสร้างไก่แต่ละตัว ดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งวงการผู้เลี้ยงไก่ชน จะสังเกตเห็น แล้วจับแยกเลี้ยงฝึก เพื่อขายเป็นไก่ชน ส่วนที่ไม่เข้าขั้นมาตรฐาน จะถูกขายเป็นไก่เชือดทั่วไป
ปกติแม่ไก่ป่าก๋อย 1 ตัว จะให้ไข่ 8-12 ฟอง รายได้จากการจำหน่ายไก่ชนปัจจุบัน อยู่ที่ตัวละ 7,000-10,000 บาท ถ้าไก่ที่ตกเกรด “มือปราบไก่พม่า” ขายเป็นไก่เชือด ราคาตลาด กก.ละ 120-180 บาท
ทั้งนี้การเลี้ยงไก่ชน น่าจะเป็นอีกเส้นทาง สร้างโอกาส เสริมรายได้ ให้ผู้สนใจ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอีกช่องทางหนึ่ง เพราะเป็นวงการที่ตลาดไม่วาย เนื่องจากมีการลงทุนสร้างสนามไก่ชนติดแอร์ สนามในหลาย ๆ จังหวัดมากมายในภาคเหนือ เฉพาะเชียงใหม่ ก็ติดลำดับยอดนิยม
ว่ากันว่า วันอาทิตย์ ในบางสนามแถว ๆ อ.สันทราย เดิมพัน 7 หลัก เป็นปกติ ไม่นับรวมสนามอื่น ๆ ที่เดิมพันหลักหมื่น หลักแสน กลายเป็นเรื่องธรรมดา
หลาย ๆ คนอาจมองกีฬาชนไก่เหมือนเอาสัตว์มาทารุณ แล้วเดิมพันพนันขันต่อเพื่อความสนุก แต่สนามไก่ชน เป็นมากกว่านั้น เป็นแหล่งลงทุนของชาวบ้าน สถานที่ สร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่น และเป็นช่องทางให้ชาวบ้าน สร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นทุน “ไก่บ้าน ๆ กลายเป็นไก่ชนเงินล้าน” ได้ชั่วข้ามคืนด้วย