การบริหารร่างกายไก่ชน หมายถึงการทำให้ร่างกายส่วนต่าง ๆ ของไก่เกิดความเคยชินต่อการเคลื่อนไหว การจู่โจม หรือการปะทะที่จะเกิดจากการต่อสู้ อวัยวะส่วนต่าง ๆ นับตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ปีก โคนปีก ลำปีก หน้าอก ตลอดลงไปจนถึงปั้นขา และแข้งต้องมีความแข็งแรง แข็งแกร่งและทนทาน ฟิตไปทั้งตัว พร้อมที่จะต่อสู้เสมอ หากออกกำลังกายหรือฝึกซ้อมไม่เพียงพอ โอกาสแพ้จะมีสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ถูกเลี้ยงอย่างดีจนอ้วกกันย้อย หรือที่นักเล่นไก่ชนเรียกว่า มันจุกตูด จะเสียไก่ได้ง่าย จึงต้องซ้อมให้หนักรีดไขมันออกให้หมด ระหว่างการซ้อมและบริหารร่างกายจะต้องควบคุมน้ำหนัก โดยจับชั่งอยู่เสมอ คอยสังเกตุดูว่าไก่ตีดีที่สุดในช่วงน้ำหนักขนาดไหน แล้วจึงรักษาระดับไว้ให้ได้ตลอดไป หากน้ำหนักมากหรือน้อยไป จะมีผลต่อการตี หรือเสียเปรียบได้ง่าย
การบริหารร่างกายของไก่ ใช้วิธีนวดเฟ้น ขยำเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแกร่ง สามารถทนทานต่อการจู่โจม และความเจ็บปวดในการปะทะกัน การบริหารร่างกายโดยวิธีนวดเฟ้นหรือขยำนั้น จะต้องทำหลังจากการอาบน้ำไก่แล้ว คือ บริหารตอนที่ร่างกายของไก่กำลังหมาด ๆ น้ำอยู่
1. การบริหารลำคอ
ลำคอของไก่เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้และไก่ชนต้องใช้ ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทั้งในการเข้าจู่โจมจิกตี หลบหลีก และล่อหลอก รวมทั้งเป็นเป้าหมายที่ถูกโจมตีจากคู่ต่อสู้ ไก่ชนที่มีลำคอไม่แข็งแกร่งทนทาน มักไปไม่รอด
การบริหารลำคอ ทำหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว วิธีแรก ผู้ฝึกนั่งลง เอามือซ้ายโอบรอบตัวไก่ให้แนบชิดกับลำตัว ใช้มือขวาจับตรงข้อต่อลำคอของไก่ นวดเฟ้นลำคอตั้งแต่โคนลำคอขึ้นไปถึงหัว ควรจะนวดเบา ๆ แผ่ว ๆ ให้ไก่ปรับตัวได้เสียก่อน การนวดต้องนวดขึ้นลงคราวหนึ่งในราว 20-30 หน ขณะเดียวกับที่นวด จับคอเอียงไปทางซ้ายที ทางขวาที ไปข้างหน้าที และกลับมาข้างหลังที สบับกันไปสัก 20-30 ครั้ง เพื่อให้การเคลื่อนไหวลำคอของไก่คล่องตัว แข็งแรง
วิธีที่สอง จับไก่ให้อยู่ระหว่างขาของผู้ฝึก ให้ไก่หันหน้าไปทางเดียวกัน ใช้มือซ้ายโอบตัวไก่หรือจับที่ต้นคอไก่พอหลวม ๆ มือขวาจับคอหดแล้วยืดออกหลาย ๆ ครั้ง เอียงไปทางซ้ายที ขวาที หน้าที หลังที สลับไปมาอย่างน้อย 20-30 ครั้ง
การเริ่มต้นบริหารใหม่ ๆ ควรจะทำเพียง 5-6 ครั้ง แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนครบจำนวน เมื่อไก่เคยชินบ้างแล้ว การนวดการขยำค่อยทำให้แรงขึ้น แต่ต้องระวังอย่าบีบหรือขยำแรงจนไก่หายใจไม่ออก
2. การบริหารปีก
ปีกของไก่ใช้เป็นเครื่องพยุงตัวเวลากระโดดบิน หรือร่อนเหนือพื้นดิน เวลาไก่ตีกันจะใช้ปีกเป็นอาวุธ ตีสาด ไก่ชนที่ดีต้องมีปีกที่แข็งทรงพลัง จึงจะสามารถยุงตัวเวลากระโดดเข้าเตะ ตี หรือแทงเดือยได้คล่องแคล่วว่องไว และได้นานโดยไม่เหนื่อยเสียก่อน การบริหารปีกให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งจำเป็น
วิธีบริหารปีก วิธีแรก หลังจากลูบน้ำและบริหารลำคอเรียบร้อยแล้ว ให้โอบไก่เข้าหาตัว ใช้มือซ้ายจับที่โคนปีกพอหลวม ๆ ส่วนมือขวาจับตรงกลางข้อต่อของปีก จากนั้นให้นวดเฟ้นบริเวณตั้งแต่โคนปีกเรื่อยไปจนถึงข้อต่อและปลายปีก เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหนัง ทำทั้ง 2 ปีก สลับไปมาประมาณ 10-15 นาทีเป็นอย่างน้อย
วิธีที่สอง สอดมือทั้งสองข้างเข้าใต้ปีกไก่ซ้ายขวาพร้อมกัน โดยหงายมือ จับตรงข้อต่อของปีกไก่ทั้งสอง แล้วดึงออกไปข้างจนสุดปีก พร้อมกับยกให้ตีนไก่สูงขึ้นพ้นดิน หรือจะจับทีละปีกแล้วหิ้วดึงให้สูงขึ้น ให้ตีนพ้นดิน สลับกันไปทั้งสองข้าง ประมาณข้างละ 10 ครั้ง
3. การบริหารขา
การบริหารขาทำได้ด้วยการบีบนวดขยำบริเวณกล้ามเนื้อ ที่ขาของไก่ให้ทั่วทั้ง 2 ข้าง โดยนวดลูบลงเบา ๆ นานประมาณ 5-10 นาที เสร็จแล้วรวบขาทั้ง 2 ข้างเข้าหากัน ยกขึ้นตรง ๆ บีบเข้าหากันแรง ๆ สัก 2-3 ครั้ง จากนั้นพับตรงข้อต่อระหว่างแข้งกับขาเข้าหากันทีละข้าง โดยใช้นิ้วมืออัดเอาไว้ระหว่างกลาง ทำสลับกันทั้งสองขา นวดที่แข้ง นิ้วดึงและดัดเบา ๆ
4. การนวดหน้า
วิธีการนวดหน้าใช้มือซ้ายจับหลังคอไก่ใกล้ท้ายทอย ยืดคอขึ้น มือขวานวดคลึงที่หัวและหน้าไก่ อีกวิธีหนึ่ง เอากระเบื้องเผาไฟให้ร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำแล้วนำมาอิงบนกระเบื้อง พอให้ผ้าอุ่น ๆ ขนาดไก่ทนได้ แล้วนำไปประคบคลึงตามบริเวณหน้าและหัวของไก่หนัก ๆ จนทั่วถึง
การนวดจะทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือดและผิวหนังผ่อนคลาย เลือดลมเดินสะดวก ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงตื่นตัวและคล่องตัวดี