การชนไก่มีกฎกติกามารยาทอย่างไร?

หน้าแรก »อยากเลี้ยงไก่ชน » การชนไก่มีกฎกติกามารยาทอย่างไร?

สำหรับกติกาการชนไก่เป็นอีกสิ่งที่มีการพัมนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน  ในสมัยโบราณการชนไก่ไม่ได้มีกติกาอะไรมากมาย  เพียงแค่นำไก่  2  ตัวมาชนกัน  ไม่มีการกำหนดยกหรือพักให้น้ำใด ๆ ทั้งสิ้น  ตัวไหนวิ่งหนีก็ถือว่าเป้นฝ่ายแพ้ไป  แต่เมื่อการชนไก่ได้รับความนิยมขึ้นมา  กฎกติกาต่างๆ  ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ  มีการกำหนดยกโดยใช้กะลามะพร้าวเจาะรูวางลองในภาชนะใส่น้ำ  เช่น  อ่าง  กะละมังหรือถัง  เมื่อกะลามะพร้าวจมลงเรียกว่า  “หมดอัน”  ก็มีการพักยกให้น้ำได้  และใช้กะลาใบเดิมวางลอยในน้ำอีกครั้ง  เมื่อจมก็ถือว่าหมดเวลาพัก  นำไก่เข้าชนกันใหม่  ทั้งนี้จะชนกันกี่อันนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย

สำหรับการชนไก่ยุคใหม่  มีการกำหนดเวลาการชนที่ชัดเจน  ก่อนหน้านี้ให้ชนกันยกหรืออันละ  20  นาที  พัก  20  นาที  จำนวน  12  ยก  หรือแล้วแต่ทั้ง 2 ฝ่าย  จะตกลงกัน  แต่ปัจจุบันเพิ่มระยะเวลาการชนเป็น  22-23  นาที  พัก 22-23  นาที  โดยชนกันแค่  6-8  ยกขึ้นอยู่กับเจ้าของจะตกลงกัน  ซึ่งกติกาต่าง ๆ มีรายละเอียดแตกต่างกันไปแต่ละสนาม  แต่โดยส่วนมากแล้วมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

สนามชนไก่ส่วนใหญ่แล้วเปิดชนช่วงวันเสาร์และอาทิตย์  ซึ่งก็สบันสับเปลี่ยนกันไป  โดยสนามหนึ่งเปิดชนได้เพียงเดือนละ  2  ครั้งเท่านั้น  และจะหยุดในวันที่ตรงกับวันพระและวันหยุดนักขัตฤกษ์  ซึ่งกติกาทั่ว ๆ ไปสำหรับการชนไก่มีดังนี้  เริ่มจากการเปรียบไก่โดยการจับตัว  ประเมินน้ำหนัก  เทียบความสูง  อายุ และข้อได้เปรียบเสียบเปรียบต่าง ๆ โดยเจ้าของไก่เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะชนกับตัวไหน  เดิมพันจำนวนเท่าไหร่  หากได้คู่แล้วก็ทำสัญลักษณ์เอาไว้ที่เดือย  เพื่อป้องกันการเปลี่ยนตัว

เมื่อไก่ได้คู่แล้วต้องวางเงินมัดจำทั้ง  2  ข้าง  ส่วนมากกำหนดให้วางข้างละ  20  เปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้อาจเป็นการติดมัดจำไว้ก่อนแล้วมาชนกันวันหลัง  หรืออาจจะเปรียบแล้วชนกันวันนั้นเลยก็ได้  ก่อนชนสามารถเพิ่มเดิมพันได้แต่ต้องเพิ่มในเวลาที่ทางสนามกำหนด  เมื่อไก่ได้คู่วางเงินเดมพันแล้วทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายหนึ่ง  ฝ่ายใดไม่นำไก่เข้าชนต้องเสียค่ามัดจำ  20  เปอร์เซ็นต์  แต่หากทั้งสองฝ่ายพร้อมใจไม่ยอมเข้าชนทางสนามปรับทั้งคู่  ในการชนทุกครั้งมีการหักเปอร์เซ็นต์หรือที่เรียกว่าค่าน้ำด้วย  ประมาณ  10  เปอร์เซ็นต์ของเงินเดิมพัน  ขึ้นอยู่แต่ละสนามโดยผู้ชนะจะต้องเป็นผู้จ่ายแต่หากไม่มีการแพ้ชนะก็ถูกหักค่าน้ำทั้งคู่  ประมาณ  5  เปอร์เซ็นต์  เป็นต้น

เมื่อถึงวันชน  มีการเรียกดูตัวอีกครั้ง  คู่ชนที่เดิมพันมากที่สุดจะให้ชนก่อน  ก็เริ่มให้น้ำเพื่อเตรียมตัวเข้าชน  การพันเดือย  พันนิ้วเล็บใช้พลาสเตอร์พันในสนามเท่านั้น  เมื่อนำไก่เข้าสนามชนทั้งสองฝ่ายตรวจเช็คเดือยซึ่งกันและกัน  และเตรียมตัวไก่ให้เรียบร้อย   กรรมการจะนำน้ำกลางล้างขาและเดือยไก่พร้อมทั้งเช็ดตัวและนำไก่ส่งคืน  โดยมือน้ำห้ามแตะต้องหรือจับถูกเดือยไก่ก่อนปล่อยไก่เข้าชนอย่างเด็ดขาด

ยกแรก  เมื่อปล่อยหางไปแล้ว  4  นาทีหรือเรียกว่าอันซ้อม  ถือว่ามีการได้เสียเกิดขึ้นแล้ว  (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันด้วย)  แต่หากตัวหนึ่งตัวใดหนีหรือคิดก่อนอันซ้อมถือว่าให้ยกเลิกกันไปไม่มีการแพ้ชนะเว้นเสียแต่ถูกตีตายหรือถูกตีตาบอดทั้ง  2  ข้าง  ก็ถือว่าให้แพ้เช่นกัน

ขณะที่ไก่กำลังชน  แล้วหยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ กรรมการจะจับประกบทันทีไม่ต้องรอเวลา  ขณะที่ไก่กำลังชนกันถ้ายังไม่หมดอัน  เจ้าของทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิ์จับไก่  ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจับไก่ก่อน  หรือจับผิดตัว  กรรมการจะตัดสินให้แพ้ทันที

เมื่อหมดยกก็หยุดพักยก  สามารถให้น้ำ  ทำแผลให้ไก่กินข้าว  กินยาโด๊ปได้  อาจะใช้เตา  กระเบื้องประคบร้อนตัวไก่  (ขึ้นอยู่กับกติกาของสนามหรือข้อตกลงของทั้ง  2  ฝ่าย)  ให้ใช้อุปกรณ์ในตัวไก่เท่านั้นเป็นอุปกรณ์เสริม  เช่น  ไก่ปากหักหรือหลุด   เดือยหลุด  นิ้วงอ  ให้ใช้อุปกรณ์ในตัวไก่เท่านั้น  ห้ามใช้วัสดุหรือโลหะหรือไม้แทน  ปากหักปากหลุด  ใช้พลาสเตอร์พันปากได้  หรือใช้ปากใหม่แทนได้แต่ห้ามเสี้ยมปลายปากให้มีความแหลมคม  เดือยหลุด  ให้ใช้เดือยอันเดิมเท่านั้น  นิ้วหักงอ  ให้ใช้ขนไก่ตาม  (ใช้พลาสเตอร์พันในสนามเท่านั้น)  ห้ามทาการบูร  พิมเสน  ยาหรือน้ำมันหอมระเหย  รวมทั้งฉีดยาทุกชนิดในตัวไก่โดยเด็ดขาดหากจับได้จะให้อีกฝ่ายกินเดิมพันทันที

สำหรับการแพ้ชนะ  มีทั้งหากอันต่อมาไก่ไม่ยอมเข้าชน  นายสนามจะกำหนดเวลา  เมื่อครบกำหนดตัวใดตัวหนึ่งไม่เข้าชนถือว่าแพ้  ส่วนลักษณะการแพ้ของไก่  (แพ้วิ่งหนี้,  แพ้ไม่วิ่งหนี,  แพ้ร้อง,  แพ้ไม่ร้อง)  กรรมการจะจับมาประกบ  3  ครั้ง  ถ้าไม่สู้กันก็ให้ชนกันต่อไป  ถ้าไม่สู้  3  ครั้งถือว่าแพ้

ไก่หนีและร้องกรรมการจะจับมาประกบกันใหม่จำนวน  3  ครั้ง  ถ้ายังหนีอีกถือว่าแพ้

ไก่ที่ไม่มีสภาพต่อสู้  คือยันไม่ได้หรือนอนฟุบกรรมการจะจับยกตั้งขึ้น  3  ครั้ง  ถ้าไก่ยังนอนอยู่ก็ถือว่าแพ้

ไก่ตาบอดสองข้างไม่ถือว่าแพ้

ไก่ถูกตีหักหรือวิ่งรอบ ๆ สังเวียน  กรรมการจะไม่จับแพ้ทันทีจนเห็นว่าแพ้จริง  กรรมการจะจับมาประกบ  3  ครั้ง  แล้วจึงตัดสิน

ไก่ชนยังไม่ครบยก  เจ้าของไก่ห้ามชวนกันเลิกเด็ดขาด  และถ้านายสนามจับได้ว่าไก่ที่ชนนั้นเป็นไก่คู่หรือรู้กันมาชน  กรรมการจะจับยกเลิกแล้วยึดเงินเดิมพันทั้งสองฝ่าย

นอกเหนือจากกติกาทั้งหมดนี้ก็อยู่ในดุลยพินิจของนายสนามเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาด  โดยเจ้าของไก่หรือผู้เล่นไม่มีสิทธิ์คัดค้านใด ๆ ในการตัดสินของกรรมการทั้งสิ้น